ภาควิชาการปกครองเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ในภาควิชาการปกครอง เราจะเรียนเกี่ยวกับ หลักการในการปกครอง ปรัชญาในการปกครอง หลักนิติรัฐ การเมืองและการปกครองของไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือญี่ปุ่น รวมไปถึงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนั้น ๆ อีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงโครงสร้างและการทำงานของสถาบันและองค์กรทางการเมือง รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองและปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในสังคม เช่น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ความขัดแย้งภายในฝ่ายค้าน รวมไปถึงการรัฐประหาร เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ภาควิชาการปกครองยังพยายามเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลส่วนกลางอีกด้วย
แนวทางการประกอบอาชีพ
หากจบจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักการทูต นักวิจัย นักข่าว อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่กราฟิกดีไซน์เนอร์ แต่อาชีพที่ตรงสายและสามารถใช้ความรู้ที่ได้จากภาควิชาการปกครองมากที่สุด คือ ปลัดอำเภอ ที่ทำหน้าที่ปกครองและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของผู้คนในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ทุกคนสามารถทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ตนเองชอบและถนัด ไม่จำเป็นต้องเป็นนักรัฐศาสตร์ เพียงแต่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาทางการเมืองในสังคม
แนะนำรายวิชาในภาคการปกครอง
- ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)
: ศึกษาเกี่ยวกับแนวความคิดของนักคิดการเมืองในเชิงปรัชญาและประวัติศาสตร์ โดยเน้นที่นักคิดและแนวความคิดทางการเมืองในประวัติศาสตร์ ความคิดทางการเมืองตะวันตก
- ระบอบประชาธิปไตยเปรียบเทียบ (Comparative Democratic Regimes)
: ศึกษาเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยของประเทศประชาธิปไตยที่สำคัญ โดยเน้นไปที่กระบวนการเปลี่ยนแปลง การสร้างโครงสร้าง และสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น ๆ
- รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง (Constitution and Political Institutions)
: ศึกษาพัฒนาการ ขบวนการ และแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับสถาบันการเมือง รูปแบบของรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองในประเทศตะวันตก ปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
- การปกครองและการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Government and Politics of Southeast Asia)
: ศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมือง อุดมการณ์ โครงสร้างทางการเมืองกระบวนการทางการเมือง รวมไปถึงปัญหาทางการเมืองที่ประเทศเหล่านี้กำลังประสบอยู่
- การเมืองไทยสมัยใหม่ (Modern Thai Politics)
: ศึกษาการเมืองไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน วิเคราะห์สภาพทางการเมืองแต่ละช่วง โดยเฉพาะในด้านลักษณะ สาเหตุ และสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการวิเคราะห์ปัจจัยปัญหาต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย